วิธีป้องกันการ เมารถ เมาเรือ ด้วยวิธีง่ายๆ…

สมองคนเรามี ระบบรับรู้การทรงตัว เพื่อบอกว่า เราอยู่ในท่าใด เช่น ยืน นั่ง นอนหงาย นอนคว่ำ นอนตะแคง ฯลฯ หรือเคลื่อนที่ไปในทิศทางใด เช่น ขึ้นบน ลงล่าง ไปทางซ้าย-ขวา, หน้า-หลัง ฯลฯ 2 ระบบใหญ่ได้แก่ ผ่านทางตากับทางหูชั้นใน

ภาวะที่มีการเคลื่ีอนไหวโยกเยก โดยเฉพาะการนั่งรถลงเรือ ทำให้ระบบเหล่านี้ตีรวนได้ เนื่องจากหูชั้นในมีระบบท่อของเหลวรูปครึ่งวงกลม วางตั้งฉากกัน เพื่อรับรู้การเคลื่อนไหวในแนวนอน-ตั้ง-ขวาง

เมื่อมีการ เคลื่อนไหว… จะเกิดการเคลื่อนไหวภายในระบบท่อของเหลวในหูชั้นใน เมื่อการเคลื่อนไหวหยุดแล้ว ของเหลวที่มีแรงเฉื่อยจะเคลื่อนที่ต่อ ทำให้ระบบหูส่งสัญญาณคล้ายกับว่า การเคลื่อนไหวยังไม่หยุดทันที

ส่วนระบบตาไม่มีแรงเฉื่อยแบบนี้ ทำให้สัญญาณการทรงตัวของระบบตากับหูขัดแย้ง ตีรวนกัน และเกิดอาการเมารถเมาเรือ

คนที่เสี่ยง ต่ออาการเมารถเมาเรือมากที่สุด คือ คนอายุน้อย โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุ 2 ปี, ความเสี่ยงจะลดลงไปตามอายุ และพบน้อยลงไปมากเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป จึงอาจกล่าวได้ว่า อาการเมารถเมาเรือเป็นอาการของคนที่ยังอ่อนเยาว์ กล้ามเนื้อและข้อต่อของคนเราก็มีระบบรับรู้การทรงตัว เพื่อให้คนเรารู้ว่า หัว-แขน-ขาอยู่ตรงไหน พิกัดใดเช่นกัน

 

วิธีป้องกันการ เมารถเมาเรือได้แก่

  1. กินยา ป้องกัน-แก้เมารถเมาเรือล่วงหน้า เช่น dimenhydrinate (Dramamine) ฯลฯ, ยานี้ใช้เวลาในการดูดซึม และออกฤทธิ์ประมาณ 20-30 นาที ยานี้ทำให้ง่วงนอน จึงต้องระวังอันตรายเสมอ เช่น ระวังหลับแล้วของหาย ฯลฯ
  2. ใช้ยาจาก ธรรมชาติ คือ ขิง เช่น กินอาหารที่มีขิงหรือน้ำขิง ฯลฯ ก่อนเดินทาง
  3. กินอาหาร มื้อเล็ก หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากๆ หรือกินอาหารที่มีลมหรือแก๊ส เช่น น้ำอัดลม ฯลฯ ระหว่างเดินทาง เนื่องจากกระเพาะอาหารที่โป่งพองจากปริมาตรของ “อาหาร-น้ำ-ลม” จะทำให้คลื่นไส้ได้ง่ายกว่าตอนท้องว่าง  อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง คือ อาหารที่มีกลิ่นแรง เช่น ทุเรียน ฯลฯ, เครื่องเทศฉุน และอาหารที่มีไขมันสูง เช่น อาหารทอด ฯลฯ
  4. ก่อนเดินทาง… ควรดื่มน้ำให้พอล่วงหน้า 1 วัน เนื่องจากภาวะขาดน้ำอาจเพิ่มเสี่ยงอาการเมารถเมาเรือได้
  5. หลีกเลี่ยง แอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ) เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเมาซ้ำซ้อน
  6. การหลับตา หรือดีกว่านั้น คือ พยายามนอนให้หลับไปเลย มีส่วนช่วยบรรเทาอาการได้ดีกว่าการลืมตา

เชิญแสดงความคิดเห็นเจ้า